บ้าน 100 บาท จ่ายไปกับอะไรบ้าง ?
ชำแหละโครงสร้างราคาของบ้าน 1 หลัง ทำไมขาดทุนทิ้งงาน ?
การบริหารต้นทุนในการก่อสร้างบ้านอย่างไรจะได้ไม่เจ็บตัวทั้ง 2 ฝ่าย
หากพูดถึงเรื่องการสร้างบ้านหลายๆคนอาจจะนึกถึงเรื่องงานออกแบบ ฝีมือช่างหรืองานวิศวกรรม แต่ในความเป็นจริงนั้นแกนสำคัญของธุรกิจ ของงานก่อสร้างบ้านคือการบริหารต้นทุนโครงการ ซึ่งหากอุปมาอุปไมยง่ายๆก็เหมือนการ แบ่งเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิผลนั่นเอง ยิ่งจ่ายได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี
วันนี้เลยพาเพื่อนๆมาทำความรู้จักกับต้นทุนทั้ง 5 หมวดและแต่ละหมวดมีความสำคัญอย่างไร
1. ค่าวัสดุ คือต้นทุนหลักในการก่อสร้าง ซึ่งในค่าวัสดุจะมีวัสดุงานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรม หรือจะแปรผันตรงกับพื้นที่ปริมาตรและราคาต่อหน่วยของวัสดุโดยตรงนั่นเอง เข้าใจง่ายๆคือยิ่งใช้มากราคาต่อหน่วยสูง ราคาวัสดุโดยรวมก็จะสูงตาม ถ้าวัสดุโดยรวมจะอยู่ประมาณ 40-60% ของราคารวม
2. ค่าแรงงาน ค่าจ้างเหมา
ค่าแรงงาน คือค่าแรงที่ใช้ในงานก่อสร้างในโครงการนั้นๆ จะแปรผันตรงกับพื้นที่ปริมาตรและราคาต่อหน่วยเช่นกัน แต่หากงานที่มีความซับซ้อนต้องใช้แรงงานคน ก็จะทำให้ค่าแรงสูงขึ้นมากกว่าการใช้งานกึ่งสำเร็จรูปนั่นเอง ฉะนั้นในมุมมองของการบริหารโครงการเราจึงจำเป็นต้องใช้วัสดุสำเร็จที่พร้อมติดตั้ง และลดการใช้แรงงานซึ่งในปัจจุบันมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ก็อาจจะทำให้กระทบต่อภาพรวมของราคาขายที่ลูกค้าจะได้รับ ค่าแรงโดยประมาณ 20-30% ตามความยากง่ายและการบริหารงานค่าแรง
ค่าจ้างเหมา แน่นอนว่าในงานก่อสร้างไม่ได้มีเพียงแค่พนักงาน แต่ยังมีผู้รับเหมาช่วง ซึ่งในสัญญาระบุไว้ว่าให้สามารถส่งมอบงานไปยังผู้รับเหมาช่วงได้ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับเหมาหลัก งานของผู้รับเหมาช่วงยกตัวอย่างเช่น งานเสาเข็ม งานโครงสร้าง งานหลังคา งานก่อฉาบ งานระบบไฟฟ้า งานอื่นๆขึ้นอยู่กับการบริหารงาน ค่าจ้างเหมาของเราตีไปรวมกับค่าแรงทั้งหมดแล้วขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดสรรตัวไหนเป็นงานจ้างเหมาหรือค่าจ้างรายวัน
3. ค่าเครื่องมือเครื่องจักร ในการคิดค่าเครื่องจักรสำหรับงานก่อสร้างต้องคิดให้ถูกต้องครอบคลุม หากในการปฏิบัติงานจริงมีการใช้งานเครื่องจักรที่เกินจำเป็นก็จะทำให้เกิดการขาดทุน เนื่องจากค่าเช่าเครื่องจักรนั้นมีราคาค่อนข้างสูง ตัวอย่างเช่น รถขุดเล็กวันละ 5,500 บาท ค่าเช่าเครน 7,000-10,000 บาท, ค่าเช่ารถกระบะ 6 ล้อวันละ 3,000 บาท, เครื่องตอกเสาเข็มวันละ 30,000 บาท จะเห็นว่าราคาต่อการเช่าค่อนข้างสูงหากมีความผิดพลาดในการบริหารงานก่อสร้างชัดเจนเลยว่าจะต้องมีค่าเสียหายของค่าเครื่องจักรเกิดขึ้นสูงมาก ค่าเครื่องจักรประมาณ 2-10% ขึ้นกับประเภทงานโครงสร้าง
4. ค่าดำเนินการ กำไร และภาษี
– ค่าดำเนินการ คือค่าค่าเหนื่อย ค่าวิศวกร สถาปนิก โฟร์แมน ค่าดำเนินการพนักงานออฟฟิศ ค่าควบคุมงานและตรวจสอบคุณภาพ ค่าน้ำมัน ค่ารถ ค่าเสียเวลา ค่าขนส่ง ค่าติดต่อจัดหา ค่าอื่นๆ ตรงนี้จะถูกใช้หมดไป เปรียบง่ายๆให้เห็นภาพเหมือนเราใช้ใครไปทำอะไรจำเป็นต้องมีค่าบริการเพื่อให้เขาสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นนั่นเอง
– กำไร คำนี้ตรงตัวไม่ต้องแปล เป็นตัวบ่งบอกถึงความสามารถในการบริหารงานของบริษัท
– ภาษี อ้างอิงประมวลรัษฎากร หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 77_79 คือ เงินที่เก็บจากประชาชน เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ
โดยทั่วไปค่าดำเนินการ กำไร และภาษี ประมาณ 20-35% ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและขนาดของโครงการ
สรุปรวมทุกอย่างจะอยู่ที่ 100% แต่จะแตกต่างกันไปตามการออกแบบ รายละเอียดวัสดุ และความยากง่ายของงานก่อสร้าง
เพื่อนๆจะเห็นว่าการวางโครงสร้างราคาที่ชัดเจน จะช่วยให้งานก่อสร้างนั้นสามารถดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิผล ด้วยมีราคาต้นทุน มีแผนงาน และมีการจัดสรรงบประมาณไว้ล่วงหน้าชัดเจน
การวางโครงสร้างราคาที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงในด้านของลูกค้า และด้านของผู้รับเหมาด้วยเช่นกัน บางครั้งการประเมินราคาก็อาจจะทำให้เกิดความสูญเสียในฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ซึ่งการวางโครงสร้างราคามาตรฐานแบบนี้ จะช่วยลดปัญหาข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในเรื่องต้นทุน แต่ข้อเสียคือการทำงานต้องมีการเตรียมการเรื่องของเวลา เพื่อการประมาณราคา ทำราคาวัสดุจริงสำหรับงานก่อสร้าง และการปรับเปลี่ยนวัสดุ ซึ่งอาจจะมีหลายขั้นตอน ซึ่งหลายๆท่านอาจจะมองข้ามไป แต่ในมุมของการบริหารงานตรงนี้สำคัญอย่างยิ่ง หากไม่เข้าใจตรงนี้แล้วอาจจะเกิดข้อพิพาทในงานก่อสร้างก็เป็นได้
สำหรับเพื่อนๆที่กำลังจะสร้างบ้าน
อยากให้ลองศึกษาโครงสร้างราคาต้นทุน เพื่อที่จะได้เข้าใจวัตถุประสงค์และเห็นภาพรวมของการบริหารจัดการโครงการ
สรุปในมุมของผู้บริหารโครงการ
หากงบประมาณบริหารโครงการไม่สัมพันธ์กับงาน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณในส่วนใดก็ตาม โครงการนั้นจะไม่สามารถบรรลุผลได้ ถ้าเป็นผู้รับเหมาย่อยๆก็จะเกิดการทิ้งงานนั่นเอง หากเป็นบริษัทที่มีระบบบริหารจัดการที่ดีแล้ว จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นจึงจำเป็นต้องมีการวางโครงสร้างราคาที่เป็นมาตรฐานนั่นเอง
หากงบประมาณอยู่ในมาตรฐาน ก็จะช่วยให้โครงการบรรลุผลได้อย่างดีนั่นเอง
หากเพื่อนๆชอบเนื้อหาดีๆในการสร้างบ้านอย่าลืมกดไลค์กดติดตาม แอ็ดไมร รับสร้างบ้านโคราช
บทความ
สรายุทธ